การแสดงเจตนา

การแสดงเจตนา


         การแสดงเจตนาจะต้องมีการกระทำโดยการแสดงเจตนาออกมาเพราะถ้าไม่มีการกระทำอันเป็นการแสดงเจตนาออกมาแล้วนิติกรรมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าผู้ทำนิติกรรมมีความประสงค์อะไร แต่การแสดงเจตนานั้นจะต้องเกิดจากเจตนาในใจจริงของผู้แสดงเจตนาของผู้ทำนิติกรรมจริงๆด้วย มิฉะนั้น จะถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนา เช่น นายแดง ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินนอนป่วย สติไม่ดี พูดจาไม่รู้เรื่อง นายดำจึงจับมือ นายแดงพิมพ์ลงในใบมอบอำนาจเพื่อให้นายดำสามารถแอบนำเอาที่ดินของนายแดงไปขายให้แก่ นายขาวซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีนี้ถือว่า นายแดงไม่มีการกระทำอันเป็นการแสดงเจตนาของนายแดงแต่อย่างได จึงทำให้หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ ไม่ทำให้นายขาวได้สิทธิในที่ดินที่ซื้อจากนายแดงแต่อย่างได   สำหรับการแสดงเจตนานั้นสามารถทำได้ 3 ลักษณะดังนี้ 

1) การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง เป็นการแสดงเจตนากระทำด้วยกิริยาท่าทางเพื่อเจตนาเพื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนซึ่งการกระทำนิติกรรมนั้นโดยตรง ซึ่งอาจแสดงออกด้วยวาจา หรือลายลักอักษรก็ได้  แต่ถ้าต้องการให้มีความชัดเจนมากที่สุดก็ต้องแสดงออกเป็นลายลักอักษร

2) การแสดงเจตนาโดยปริยาย เป็นการแสดงเจตนาออกมาเพียงแต่ไม่อาจเข้าใจได้ว่ามีความหมายอย่างไร แต่เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว พอจะเข้าใจได้ว่ามีความหมายอย่างไร เช่น การที่เจ้าหนี้ฉีกสัญญากู้ทิ้งย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่าปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ เป็นต้น

3) การแสดงเจตนาโดยการนิ่ง  โดยปกติการนิ่งไม่ถือเป็นการแสดงเจตนาเพราะมิได้มีการแสดงกิริยาอาการอย่างใดออกมา แต่การนิ่งหรือการละเว้นในบางกรณีกฎหมายถือว่าเป็นการแสดงเจตนา เช่น มาตรา 570 กำหนดเอาไว้ว่าถ้าสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วหากผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ และผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง ถือว่าทำสัญญาเช่ากันต่อไม่มีกำหนด หรือในกรณีปกติประเพณี หรือโดยสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างกัน หรือจากสิ่งที่คู่กรณีพึงปฏิบัติต่อกันโดยสุจริต ได้ก่อให้เกิดหน้าที่ที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจะพึงต้องแสดงเจตนา การนิ่งในลักษณะเช่นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนา
โดยหลักทั่วไปกฎหมายยอมรับหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาของบุคคล แต่ทั้งนี้การแสดงเจตนาจะต้องเป็นเจตนาที่เกิดจากเจตนาที่แท้จริง  ไม่ได้เกิดจากเจตนาอันเบี่ยงเบนไป เช่น การแสดงเจตนาลวง (declaration of intention which is fictitious) หรือนิติกรรมอำพราง(concealed act) และนอกจากนั้นการแสดงเจตนานั้นจะต้องเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ไม่ใช่เกิดขึ้นจากเจตนาอันวิปริต เช่น สำคัญผิด(mistake) กลฉ้อฉล(fraud) อันจะมีผลทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ(void)ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
 
  5.1 การแสดงเจตนาลวง
มาตรา 155 วรรค 1 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นไม่ได้
การแสดงเจตนาลวง เป็นกรณีที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงสมคบกันแสดงเจตนา เพียงแต่การแสดงเจตนานั้นไม่ได้ตรงกับในใจจริง แต่กระทำขึ้นเพื่อที่จะหลอกลวงบุคคลภายนอกมิได้ประสงค์ให้นิติกรรมนั้นมีผลผูกพันระหว่างกันแต่อย่างได
จากมาตรา 155 องค์ประกอบของการแสดงเจตนาลวงจึงประกอบไปด้วย
1.มีการตกลงที่แตกต่างไปจากเจตนาในใจจริง
2.มีการตกลงสมคบกันของคู่กรณี
3.โดยเจตนาที่จะหลอกลวงบุคคลภายนอก
เช่น  นายแดง เป็นลูกหนี้ของ นายดำ จำนวน 100,000 บาท นายแดง กลัวว่านายดำจะมายึดรถยนต์ที่นายแดงมีอยู่เพียงคันเดียวไปขายเพื่อชำระหนี้ นายแดง จึงตกลงสมคบกับนายขาว เพื่อนสนิท ทำนิติกรรมโอนขายรถยนต์คันดังกล่าวให้กับนายขาว  โดยมิได้มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมกันจริงๆผลจากการทำนิติกรรมโดยการแสดงเจตนาลวง

1.ผลต่อคู่กรณี  นิติกรรมมีผลเป็นโมฆะ เช่น จากตัวอย่างเดิมนิติกรรมโอนขายรถยนต์คันดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆะ เพราะนายแดง กับนายขาว มิได้มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมกันจริงๆ
 
2.ผลต่อบุคคลภายนอก  บุคคลภายนอกที่สุจริตและได้รับความเสียหายจะได้รับความคุ้มครอง กล่าวคือ แม้นิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆะระหว่างคู่กรณี แต่คู่กรณีก็ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริต คือ “ไม่รู้” ถึงการสมคบกันของคู่กรณี และ “ต้องเสียหาย” คือได้รับความเสียหายจากการทำนิติกรรมนั้น เช่น จากตัวอย่างเดิม ถ้านายแดง ได้ส่งมอบรถยนต์ให้กับนายขาวมาแล้ว นายขาวได้แอบนำเอารถยนต์ไปขายต่อให้นาย เขียว ในราคา 100,000 บาท โดยนายเขียวไม่รู้เลยว่า การตกลงระหว่างนายแดงกับนายดำ เป็นโมฆะ เช่นนี้นายเขียวจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

  5.2 นิติกรรมอำพราง 
มาตรา 155 วรรค 2 บัญญัติว่า “ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่นให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ”
นิติกรรมอำพราง คือ นิติกรรมที่ถูกอำพรางหรือถูกปกปิดโดยนิติกรรมอีกอันหนึ่งที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีซ้อนนิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนาอันแท้จริงขึ้นมาอีกอันหนึ่ง   ดังนั้นนิติกรรมอำพรางจึงมีองค์ประกอบดังนี้
1) มีการทำนิติกรรมเกิดขึ้น 2 นิติกรรม
2) นิติกรรมอันหนึ่งที่ถูกเปิดเผย แต่ไม่ต้องการให้นิติกรรมนั้นผูกพัน
3) นิติกรรมอีกอันหนึ่งที่ปกปิด(นิติกรรมอำพราง)  แต่ต้องการที่จะผูกพัน เช่น  นายแดง ทำสัญญาโอนที่ดิน เพื่อปกปิด(อำพราง) การซื้อขายที่ทำเอาไว้กับนายดำ  เช่นนี้สัญญาโอนที่ดินเป็นการแสดงเจตนาที่ไม่ต้องการให้ผูกพันจึงตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 155 วรรคแรก จึงต้องบังคับกันไปตามสัญญาซื้อขาย
สำหรับนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นจะมีผลใช้บังคับกันได้เพียงไดนั้นต้องพิจารณา กฎหมายในส่วนซึ่งให้นำบทบัญญัติให้นำกฎหมายอันเกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ เช่น นิติกรรมอันที่ปกปิด หรืออำพรางไว้นั้นกฎหมายกำหนดแบบเอาไว้ว่าจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ นิติกรรมอำพรางนั้นก็จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มิฉะนั้น นิติกรรมอำพรางนั้นก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีกันได้เพราะไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดเอาไว้

5.3. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ

มาตรา 156 วรรค 1 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ”

ความสำคัญผิด(Mistake) หมายถึง ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
สาระสำคัญของนิติกรรม หมายถึง สิ่งที่จะต้องมีในนิติกรรมนั้นๆ ถ้านิติกรรมไม่มีสิ่งนั้นแล้ว นิติกรรมนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นมาได้

    สำหรับความสำคัญผิดซึ่งกฎหมายกำหนดเอาไว้เป็นตัวอย่างนั้น ได้แก่
5.3..1 ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม เช่น นายแดง ต้องการที่จะค้ำประกัน นายดำ ที่นายดำ  ไปกู้เงินจาก นายขาว แต่นายแดง สำคัญผิดว่าผู้ค้ำประกันจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาคู่กับนายดำ ผู้กู้ เช่นนี้ การแสดงเจตนาของนายแดง ที่ลงชื่อในช่องผู้กู้ย่อมเป็นโมฆะ  เช่น ในคดีหนึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญายอมความที่อำเภอ จำเลยไม่รู้ข้อความในสัญญาเข้าใจผิดว่าเป็นหนังสือประกันตัว นาย ข. แต่กลายเป็นสัญญายอมต่อกรมการอำเภอว่าจำเลยยอมใช้เงินแก่โจทก์ สัญญายอมความไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะตามมาตรา 156 

5.3.2ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม  เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าผู้แสดงเจตนามุ่งหมายที่จะทำนิติกรรมกับบุคคลใด ถ้าหากเจตนาที่จะทำนิติกรรมกับบุคคลหนึ่งแต่ได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมกับอีกบุคลหนึ่ง ก็ย่อมทำให้นิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆะ แต่ทั้งนี้ตัวบุคคลจะต้องถือเป็นสาระสำคัญด้วย หากตัวบุคคลไม่ใช่สาระสำคัญแล้วนิติกรรมนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะ  เช่น แดง เสนอขอเช่าบ้านของ ดำ แต่ดำสำคัญผิดเข้าใจว่า แดง ผู้ขอเช่าบ้านนี้เป็นแดงคนเดียวกับแดงเพื่อนรักของตนเพื่อจะได้ไว้วางใจในการดูแลบ้านด้วย ต่อมาปรากฏว่าเป็นคนละคนกัน เช่นนี้ถือว่าเป็นการสำคัญผิดในตัวบุคคล
 
5.3.3 สำคัญผิดในวัตถุแห่งนิติกรรม  วัตถุแห่งนิติกรรม คือ ตัวทรัพย์สินที่จะต้องส่งมอบกัน หรือข้อปฏิบัติอันเกิดแต่นิติกรรมซึ่งอาจเป็นการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่กรณี  เช่น  นายแดง ต้องการที่จะซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง แต่นายแดงสำคัญผิดไปตกลงซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่ง เป็นกรณีที่  นายแดง เจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมคือการซื้อที่ดินผิดแปลง สัญญาซื้อที่ดินของนายแดงจึงตกเป็นโมฆะ
แต่ถ้าความสำคัญผิดนั้นเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลผู้แสดงเจตนานั้นจะถือเอาความประมาทเลินเล่อนั้นมาเป็นประโยชน์กับตนเองไม่ได้


5.4 การแสดงเจตนาด้วยความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล หรือทรัพย์สิน
         มาตรา 157 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล หรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ
ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น”
การสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล หรือทรัพย์เป็นการสำคัญผิดไม่ถึงขนาดที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรมเพียงแต่การแสดงเจตนานั้นสำคัญผิดว่าบุคคลหรือ ทรัพย์มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งแต่ปรากฎว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ต้องการในคุณสมบัตินั้น เช่น  นายแดงต้องการจ้างจิตรกรที่มีฝีมือในการวาดภาพเหมือนมาวาดภาพภริยาของตน จึงตกลงจ้าง นายดำ ซึ่งนายแดงเข้าใจว่านายดำเป็นจิตรกรฝีมือดีในการวาดภาพเหมือน ต่อมาจึงทราบว่านายดำเป็นแค่คนรับเขียนตัวหนังสือ ไม่มีฝีมือในการวาดภาพเหมือนเลย เช่นนี้สัญญาจึงตกเป็นโมฆียะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น